ReadyPlanet.com
dot
Line ID
dot


13.เปลี่ยนสายพานโมดูล่าร์(Modular Belt)รับน้ำหนักกระสอบน้ำตาล 7 ตันได้

เปลี่ยนสายพานโมดูล่าร์(Modular Belt)รับน้ำหนักกระสอบน้ำตาล 7 ตันได้

เพื่อให้ผู้อ่านบทความนี้มีความเข้าใจขอแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ช่วงคือ

1.ช่วงก่อนทำงาน 

1.1. ขั้นตอนการติดต่อเพื่อขอราคาและสร้างความมั่นใจ 

1.1.1 แจ้งปัญหา (Problem) ลูกค้าได้ติดต่อบริษัท คอนเวเยอร์ไกด์ จำกัด พร้อมส่งข้อมูล รูป และรายละเอียดต่างๆผ่านทางไลน์พร้อมกันแจ้งจุดประสงค์ว่าต้องการเปลี่ยนสายพานโมดูล่าร์เดิมที่ไม่สามารถทำงานได้ปัญหาคือสายพานวิ่งไม่เรียบ กระโดด ไม่สามารถลำเลียงกระสอบน้ำตาลน้ำหนัก 7 ตันได้ 

 

   

สายพานโมดูล่าร์เดิมที่ปัญหาต้องการเปลี่ยน

 

 

   

 

สายพานโมดูล่าร์ลำเลียงกระสอบน้ำตาลน้ำหนัก 7 ตัน

 

สเปคสายพานเป็นดังนี้ หน้ากว้าง 2,590 mm ยาวรวม 6 เมตรมี สายพาน Pitch 25.4 มิลลิเมตร ต้องการให้วิศวกรของบริษัท คอนเวเยอร์ไกด์ จำกัดเข้าไปสำรวจดูหน้างานพร้อมแนะนำการแก้ปัญหาและเสนอราคา

 

 

 

   

การเปลี่ยนสายพาน งานนี้ต้องการแก้ไขด่วนมาก เนื่องจากสายพานขาดไม่สามารถทำงานได้ ต้องทำงานหนักเกือบ 24 ชั่งโมงเพื่อ load น้ำตาลที่ท่าเรือ ส่งออกต่างประเทศ ขณะนี้การทำงานต้องใช้วิธีการอื่นซึ่งต้องใช้คน เครื่องจักร และอุปกรณ์อย่างอื่น ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง เกิดความไม่สะดวก และเสียเวลามากลำบากมากดังนั้นลูกค้าต้องการใช้งานสายพานโดยด่วนที่สุด 

1.1.2 วิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า  

วิศวกรจะรับข้อมูลและปัญหาเบื้องต้นจากลูกค้าก่อน จากนั้นวิศวกรจะศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้พร้อมทั้งหาสาเหตุว่าทำไมจึงมีแนวโน้มที่เกิดปัญหาขึ้น ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุแทบทุกจุด ตั้งแต่การออกแบบระบบสายพาน สเปคแรงดึงของสายพานโครงสร้างของคอนเวเยอร์ ตลอดจนระบบของ conveyor โดยรวม ตั้งแต่ลูกกลิ้ง ลักษณะการขับสายพาน ลักษณะการขบกัน(Engage)ของรูที่ท้องสายพานและเฟือง (sprocket ) ตลอดถึงวิธีการขับสายพาน สาเหตุมีมากมายกว่าที่จะบรรยายให้หมดในที่นี้ได้ ดังนั้นคนที่ไม่มีประสบการณ์ในสนามรวมทั้งไม่รู้เรื่องการออกแบบเรื่องเกี่ยวกับสายพานโมดูลาร์คอนเวเยอร์ (Modular Belt Conveyor) การแก้ปัญหา การเลือกประเภทวัสดุหรือชนิดของสายพานให้ตรงกับสเปคที่ต้องการ จึงไม่สามารถที่จะทำเรื่องเหล่านี้ได้ถูกต้องเหมาะสมได้ง่ายๆ แม้แต่วิศวกรของเราที่มีประสบการณ์ทั้งการออกแบบและงานในสนามอย่างโชกโชน ยังจำเป็นจะต้องไปดูหน้างานแล้ววิเคราะห์อย่างละเอียดก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นเคสพิเศษไม่ค่อยจะเกิดขึ้นในเหตุการณ์ทั่วๆไป

เบื้องหลังก่อนทำเรื่องนี้ บริษัท คอนเวเยอร์ไกด์ จำกัด มีประสบการณ์ ผลิตและส่งมอบ Modular belt Conveyor หน้ากว้าง 1.5 เมตร ลำเลียงของหนักๆประมาณ 3.5 ตันถึง 4 ตัน มาหลายยูนิท ให้แก่ อุตสาหกรรมการลำเลียงกระดาษลูกฟูก(Card Board) ขณะนี้ใช้งานผ่านมาหลายปีก็ยังไม่มีปัญหาอะไร ดูแนวทางการออกแบบ ด้านล่างเผื่อผู้อ่านจะสามารถนำไปเป็นประโยชน์ได้

 

 

 

 

ส่งมอบ Conveyor หน้ากว้าง 1.5 เมตร ที่ลำเลียงกระดาษลูกฟูกหนัก 4 ตัน

 

 

 

แต่งานนี้จะต้องลำเลียงกระสอบน้ำตาลหนักทั้งสิ้น 7 ตันซึ่งหนักเป็น 2 เท่าของที่เคยทำเป็นเรื่องที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังเบาใจหน่อยที่หน้ากว้างของสายพานเส้นใหม่คือ 2,590 มม. มากกว่าของที่เคยทำ เพราะหน้ากว้างมากก็สามารถรับแรงดึงได้เพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้และไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จได้ วิเคราะห์ข้อมูลสายพาน ความกว้างของสายพานนี้คือ 2,590 มิลลิเมตร ความยาว center ถึง center (Conveyor Length) ของสายพานเท่ากับ 3 เมตรโดยประมาณ

 

 

หน้ากว้างสายพาน 2,590 มม. Conveyor Length 3 เมตร 

 

สายพานตัวนี้ต้องการมีระยะ Transfer Points(จุดเชื่อมต่อระหว่างสายพาน)ที่น้อยที่สุดเพื่อที่จะส่งProduct(กระสอบ) จากสายพาน (conveyor) ตัวหนึ่งสู่สายพาน (conveyor) อีกตัวหนึ่งได้อย่างสะดวก ราบเรียบ(Smooth) ดังนั้น Conveyor Layout ตัวนี้จึงถูกออกแบบให้มอเตอร์ขับอยู่ด้าน Return ตรงกลาง

 

 

 

Conveyor มอเตอร์ขับอยู่ด้าน Return

 

 

 

ซึ่งการขับกลางนี้หากสายพานวิ่งได้ 2 ทิศทาง คำนวณแรงดึงจะเป็น 2 เท่าของการคำนวณสายพานที่วิ่งทิศทางเดียว ผู้ออกแบบต้องให้ความสนใจ

การเลือกสายพาน เนื่องจากสายพานที่สามารถรับแรงดึงสูงมีหลายรุ่น ยิ่งรับแรงดึงสูงได้มากเท่าไหร่ก็จะมีราคาสูงขึ้นเท่านั้น ถ้าต้องการความปลอดภัยสูงสุดก็เลือกสายพานที่มีแรงดึงสูงมากๆเผื่อไว้ก่อน แต่ราคาก็จะสูงมากขึ้นด้วย(ยอมรับราคาได้ไหม?) กรณีนี้เพื่อช่วยลูกค้าให้ประหยัดงบประมาณ วิศวกรเริ่มต้นเลือกสายพานที่วัสดุทำด้วย POM สเปคไม่สูงมาก ดูสเปคแล้วสูงเพียงพอสำหรับรับแรงดึงและทำงานได้ตามจุดประสงค์คือสามารถรับได้น้ำหนัก 7 ตันก่อน เพื่อให้ลุกค้ามั่นใจจึงท้าทายกับลูกค้าว่าถ้าสายพานทำงาน (รับน้ำหนัก7ตัน) ไม่ได้ไม่เก็บเงินถ้ารับน้ำหนักไม่ได้จริงๆจะค่อยๆอัพเกรดเปลี่ยนเป็นสายพานรุ่นอื่นที่สามารถรับแรงดึงได้มากขึ้นแต่ราคาก็แพงขึ้นด้วยซึ่งโดยทั่วไป conveyor guide พยายามที่จะเลือกสายพานซึ่งทำงานได้และประหยัดงบประมาณของลูกค้าเพื่อให้ไปต่อได้ และช่วยเหลือทุกเรื่องที่เราสามารถช่วยได้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

 1.1.3 ดูหน้างานจริง วิศวกรเข้าไปดูหน้างานเบื้องต้นเพื่อดูภาพรวม เช็คดูว่าโครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆของสายพานยังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่ พร้อมทั้งวัดระยะรายละเอียดที่จำเป็นเช่น หน้ากว้างและความยาวของสายพานเพื่อนำมาประกอบสายพานเส้นใหม่ให้พอเหมาะกับคอนเวเยอร์ตัวนี้พอดี วิเคราะห์ layout ของคอนเวเยอร์ ดูโหลดและ วิเคราะห์เลือกรุ่นของสายพานและเฟือง ตลอดจนจำนวนฟันของเฟืองที่เหมาะสมสำหรับงานบรรทุกกระสอบน้ำตาลหนัก 7 ตันต่อไป วิศวกรพบว่า

  • Lay out ของสายพานที่มีหน้ากว้างมากๆและมอเตอร์ขับอยู่ด้านขับกลางเช่นนี้มีจุดประสงค์คือต้องการให้ Transfer pointน้อยที่สุด ดังนั้นที่ปลายของหัว (Head)และท้าย (Tail)ของคอนเวเยอร์จำเป็นจะต้องใช้ roller ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็กแทนที่ sprocketที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใหญ่กว่า
  • เนื่องจากสายพานมีหน้ากว้างมากดังนั้นต้องมั่นใจว่าเพลา(Shaft)จะต้องไม่แอ่นตัว (Deflexed) เกินกว่าค่าที่กำหนดในการออกแบบ ดังนั้นต้องทำให้ความยาวเพลามี Span สั้นลงโดยทำ support ที่เพลา(Shaft) 2 จุดเมื่อเพลาไม่แอ่นตัวเกินค่ากำหนดจะทำให้ฟันของเฟืองและสายพานขบ(Engage)กันได้ดีสายพานจะวิ่งเรียบไม่กระโดด

 

 

 

 

 

วิศวกรสำรวจหน้างานวิเคราะห์หาสาเหตุ

 

1.1.4 เสนอ Solution และเสนอราคา 

เมื่อได้รับข้อมูลและวิเคราะห์ความเหมาะสมของสายพานใหม่ วิศวกรจะเสนอราคาและแจ้งสโคป (Scope) ของงานให้กับลูกค้า หลังจากได้รับการอนุมัติจากลูกค้าแล้ว จะเตรียมการเพื่อเปลี่ยนสายพานเก่าที่มีปัญหาด้วยสายพานเส้นใหม่ที่เลือกรุ่นแล้ว 

2. ช่วงระหว่างการทำงานเมื่อได้รับการอนุมัติจากลูกค้า 

เมื่อได้รับการอนุมัติจากลูกค้าแล้ว ทีมงานจะเปลี่ยนสายพานโมดูลาร์เก่าด้วยสายพานใหม่ (ได้เลือกสายพานโมดูลาร์รุ่น 502 A-HD) ดูสเปค สายพานด้านล่าง ให้แน่ใจว่างานจะดำเนินการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้การใช้งานสายพานกลับมาเป็นไปอย่างปกติโดยเร็ว 

 

 

 

 

2.1 ตรวจสอบระบบ Conveyor และอุปกรณ์ก่อนติดตั้งสายพาน  

2.1.1 ตรวจสอบระบบ Conveyor ก่อนทำการเปลี่ยนสายพานเส้นใหม่ ต้องตรวจสอบลูกกลิ้ง (Roller)ทุกตัวในระบบConveyorว่าสามารถหมุนได้เป็นปกติดีหรือไม่เพราะหากแบริ่ง (Bearing)ของลูกกลิ้ง (Roller)ฝืดหรือเสียหาย ไม่หมุนต้องเปลี่ยนทันทีเพราะแบริ่ง (Bearing)ไม่หมุนเป็นตัวทำให้เกิดแรงเสียดทานสูงมาก ถ้ามีแรงเสียดทานในระบบมากเกินกว่าแรงดึงของสายพานที่จะรับได้ สายพานก็จะขาด 

2.1.2 เช็คระบบ Belt Support ว่าโครงสร้างที่รองรับสายพานและน้ำหนัก 7 ตัน มีความแข็งแรงเพียงพอมากน้อยอย่างไรต้องแก้ไขหรือไม่ 

2.1.3 เตรียมประกอบสายพาน 

1. เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นเช่น สายพานใหม่, เครื่องมือ, และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ เตรียมประกอบสายพานตามหน้ากว้างและความยาว ตามที่วิศวกรได้ไปสำรวจวัดระยะที่ถูกต้องมา 

2. ประกอบสายพานโดยให้เรียงสายพานเป็นแบบ Brick Layer คือโมดูลของสายพานจะต้องเรียงแบบขัดกันไป-มาให้เยื้องกันจะได้ไม่มีจุดอ่อนระหว่างโมดูลรอยต่อของสายพาน 

3.หากใช้ Rod มากกว่า 1 เส้นจะต้องมีระยะห่างระหว่าง Rod ไม่เกิน 5 มม. เพื่อให้สายพานมีความแข็งแรงเท่าเดิมหรือเท่ากับความแข็งแรงของสายพานที่ใช้ Rod เส้นเดียว 

4.เนื่องจากสายพานตัวนี้หน้ากว้างถึง 2,590 mm. ซึ่งถือว่าเป็นสายพานที่มีหน้ากว้างมากดังนั้นการประกอบสายพานแต่ละUnitจะต้องมีน้ำหนักไม่มากเกินกว่าจะคนยกได้(กรณีนี้หนักประมาณ 22 กก.) เพื่อให้ยกได้และความสะดวกในการนำไปประกอบหน้างาน กรณีนี้ ประกอบสายพาน 1 ชุด หน้ากว้าง 2,590 mm.ยาว1 เมตร เป็นจำนวน 6 ชุด(Unit) เอามาต่อกันได้ยาวรวม 6.0 ม. 

5.การประกอบสายพานจะต้องมีความรู้ทักษะความชำนาญและทำด้วยความละเอียดตั้งแต่ รู้เทคนิคการเสียบ Rod สลับกัน ต้องเผื่อความยาวสายพานเพิ่มสำหรับระยะโอบ sprocket และระยะเผื่อสำหรับสายพานตกท้องช้าง(Belt Sag )หากประกอบระยะผิดก็จะมีปัญหางานเข้าได้. 

6.แนะนำให้เปลี่ยนสายพานและ Sprocket ใหม่ทั้งคู่เพื่อให้สายพานและเฟือง (Sprocket)ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานเข้ากันได้ดีที่สุด 

3. ขั้นตอนการติดตั้งสายพานหน้างาน 

3.1 ติดตั้ง Sprocket เอา Sprocket ร้อยเข้าไปในเพลา (Shaft) ขนาดสี่เหลี่ยม 80x80 mm. เรียงฟัน Sprocket ให้ตรงกันเป็นระเบียบในแนวเดียวกัน เนื่องจากสายพานที่รับน้ำหนักถึง 7 ตันดังนั้นจึงติดตั้ง Sprocket ให้มีจำนวนมากที่สุดตลอดแนวของเพลา

 

 

  

ติดตั้ง Sprocket ร้อยเข้าไปในเพลา (Shaft) สี่เหลี่ยม 80 x 80 mm.

 

3.2 ติดตั้งสายพานเข้าระบบ ประกอบสายพานแต่ละชุด (Unit)ที่ยาว 1 เมตรเข้าเป็นผืนเดียวกันจนกระทั่งครบสายพานยาวทั้งสิ้น 6 เมตร ร้อยเข้าใน conveyor เสียบ Rod ตัวสุดท้ายให้สายพานครบวง (Loop) พร้อมที่จะทดลองทำงาน งานติดตั้งและ Test Run ใช้เวลา 1 วันเพลา 

 

 

  

ติดตั้งสายพานเข้าระบบconveyor

 

4. ขั้นตอนการเทสรัน (Test Run) การทดสอบและปรับแต่ง 

4.1 Empty load test หลังประกอบสายพานและ Sprocketเข้าระบบ conveyor เสร็จแล้วให้เดินสายพานแบบตัวเปล่า (Empty Load Test) เมื่อพบว่าสายพานเดินเรียบ(smooth) ไม่กระโดด และระบบโอเคแล้วค่อยทำการเทสแบบมีน้ำหนักเต็มที่ (Full Load Test) ต่อไป 

 

4.2 Full Load Test ให้ปิด switch ไฟฟ้าหยุดเดินสายพานก่อน จากนั้น Robot จะหยิบกระสอบน้ำตาลวางบนสายพานเป็นชั้นๆจนน้ำหนักครบ 7 ตัน จากนั้นให้เปิด switchไฟฟ้า ให้คอนเวเยอร์หมุนแล้วดูว่าสายพานสามารถเดิน อย่างราบเรียบไม่กระตุก ไม่กระโดด หากไม่ถ้าไม่มีปัญหาอะไรแสดงว่าการเทสแบบมีน้ำหนักเต็มที่ (full load test) ผ่านแล้ว 

 

 

Robot หยิบกระสอบน้ำตาลวางบนสายพานเป็นชั้นๆจนน้ำหนักครบ 7 ตัน 

 

 

5. ขั้นตอนการติดตามการทำงานหลังเทสรัน (Test Run) 

หลังการติดตั้งเสร็จแล้วจะต้องติดตามผลว่าสายพานยังทำงานได้ดีหรือไม่หรือจะต้องแก้ไขอะไรอย่างไรตามความเหมาะสมหลังจากติดตามการทำงานมา 15 วันปรากฏว่าสายพานทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด  

 

บริษัท คอนเวเยอร์ไกด์ จำกัด มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการดำเนินการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ Conveyor จะช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนสายพานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย งายเปลี่ยนสายพานจะช้าหรือเร็วอยู่ที่ขั้นตอนการอนุมัติของลูกค้า หลังอนุมัติ เราสามารถ ทำงานเสร็จภายใน 3 วัน หากมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติม โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อ CONVEYORGUIDECO.,LTD. ผู้เชี่ยวชาญในงานนี้